logo-freedoka

ที่มาแห่งเรื่องราวเมื่อวันก่อนเพื่อนผมซื้อยาคูลท์มาดื่ม ต้องไม่เรียกว่าดื่มซิ ควรจะเรียกว่าจิบจะเหมาะสมกว่า ผมเลยหวนระลึกถึงตอนเด็กๆที่ชอบดื่มยาคูลท์มาก และเชื่อว่าอีกหลายๆคนก็คงชอบเช่นเดียวกัน ในใจตอนเด็กๆคิดว่าอะไรวะ ขวดตั้ง 5 บาท มีนิดเดียว (ปัจจุบัน 8 บาท) แต่กระนั้นก็ยังชอบที่จะซื้อมาดื่มทุกวัน อยากให้ยาคูลท์มีขวดโตๆ กินให้หนำใจ บางครั้งถึงกับซื้อมา 2-3 ขวดมาเทรวมกันในแก้ว แล้วดื่ม แต่กลับเป็นว่า ยาคูลท์แก้วนั้นกลับไม่เอร็ดอร่อยเหมือนยาคูลท์ในขวด  ดังนั้นเสน่ห์ของยาคูลท์คือปริมาณที่น้อยๆนี่ไงครีบ กระตุ้นต่อมอยากดีนักแล ส่วนวิธีการดื่มสำหรับผมมี 2 แบบ คือเปิดฝาออกแล้วเทพรวดๆลงปากเลยกับเอาหลอดจิ้ม แล้วดูดพรวดๆ ผมมันพวกใจร้อนครับ ละเมียดดูดไม่ค่อยไหว ใจมันจะขาด 555

ปัจจุบันมีเครื่องดื่มน้ำสีส้มขวดขาวขุ่นออกมาวางแข่งกับยาคูลท์หลายยี่ห้อ ผมก็เคยซื้อกินเหมือนกัน ด้วยเหตุผลที่ว่ามันถูกดี กินทีอิ่มไปหลายชั่วโมง หลอดก็ใหญ่กว่าดูดได้สะใจ หรือจะยกซดก็ไม่เลว แต่จะว่าไปแม้จะพยายามเลียนแบบอย่างไร (ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเจ้าอื่นเขาจงใจเลียนแบบหรือแค่บังเอิญ) ยาคูลท์ก็ยังไม่มีผู้ใดเทียบเทียมได้

มีข้อน่าสังเกตคือ ยาคูลท์ไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ขวด เนื่องจากแท้จริงแล้วยาคูลท์นั้นมิใช่ขนม แต่เป็นนมที่ผ่านการหมักบ่มกับน้ำตาลและน้ำ และผสมกับเชื้อแบคทีเรียฝ่ายธรรมะ ที่ชื่อว่า Lactobacillus casei shirota strain ที่เราคุ้นๆหูกันอยู่นั่นเอง ดังนั้นถ้ามีไอ้ เลคโตบาสิลัสมากไป มันอาจจะแย่งที่อยู่ที่นั่งคล้ายๆนักการเมืองบางประเทศก็เป็นได้ ทีนี้ละก็บ้านที่มันอาศัย หรือก็คือท้องของเราเองก็จะถูกแลคโตบาสิลัสพันธุ์นักการเมืองปู้ยี่ปู้ยำ ผลสุดท้ายเป็นอย่างไรคงไม่ต้องบอก

ยาคูลท์ทำงานอย่างไร

หากมองลงไปในพุงกะทิของเราเองจะเห็นว่าลำไส้เล็กนั้น จะบีบขย้ำกดขี่ข่มเหงและแปลงอาหารที่เรากินเข้าไปให้เป็นสารที่เป็นประโยชน์เพื่อรอการดูดซึมแต่ในขณะเดียวกันก็จะมีสารที่เป็นโทษหลุดรอดออกมาด้วย เมื่อร่างกายก่อเกิดความสมดุลของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ ระบบย่อยอาหารของเราก็จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

เฉลี่ยแล้ว แลคโตบาซิลัสมีมูลค่าตัวละ 0.00000000075 บาท

แต่ถ้าสมดุลเสียไป สารพิษและสาร อันตราย อาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย ดังนั้นไอ้เจ้าแลคโตบาสิลัสก็เลยคิดใหม่ทำใหม่กลายเป็นพระเอกม้าขาว (ออกสีนวลๆส้มๆหน่อย) เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการปรับสมดุลของลำไส้ ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของช่องท้องให้สม่ำเสมอ ลดสารที่จะก่อให้เกิดความเสียหายที่ถูกผลิตโดยแบคทีเรียฝ่ายค้าน(ฝ่ายย่อยสลาย)

จุดเริ่มต้น
หากใครคิดว่ายาคุลท์มีแค่เมืองไทยละก็ผิดถนัด เพราะยาคูลท์มีสัญชาติญี่ปุ่นเต็มตัว นับว่าเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับโกโบริก็น่าจะได้ เพราะเมื่อ 70 กว่าปีก่อนหรือปี คศ.1930  ดร.มิโนรุ  ชิโรตะ (คศ.1899-1982) จากคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยเกียวโตประเทศญี่ปุ่น ได้เริ่มต้นวิจัยพัฒนายาคูลท์ขึ้นเป็นครั้งแรก

ด้วยเหตุที่ว่าในช่วงเวลานั้น ชาวญี่ปุ่นประสบกับปัญหาเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหารเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องจากขาดสารอาหาร การสาธารณะสุขและสภาพเศรษกิจ

และในระหว่างปี คศ. 1930-1935 ดร.ชิโรตะสามารถจำแนกแยกแบคทีเรียจากลำไส้คนได้ถึง 300 ชนิด

เป้าหมายหลักของเขาคือจำแนกแบคทีเรียที่สามารถอยู่รอดปลอดภัยจากการเดินทาง

ของมันผ่านช่องท้องและน้ำดีที่มีฤทธิ์เป็นกรด ไปสู่ลำไส้เล็ก ที่ๆมันสามารถทำงานได้ในระบบย่อย

แบคทีเรียแต่ละชนิดถูกทดสอบความทนทานต่อกรดและน้ำดี และแบคทีเรียตัวที่หนังเหนียวที่สุดก็คือ Lactobacillus casei และถูกตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่เขาว่า Shirota strain

ยาคูลท์ถูกผลิตในห้องแลบของดอกเตอร์ชิโรตะและแจกจ่ายสู่ผู้ป่วยและผู้ที่ต้องการในเกียวโต จนกระทั่งในปี 1935-1955 ยาคูลท์ถูกผลิตเพื่อขายทั่วทั้งญี่ปุ่นโดยผู้จำหน่ายอิสระ

ในปี 1955 ดร. ชิโรตะ ก่อตั้งบริษัท Honsha เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางธุรกิจ และควบคุมผู้จำหน่าย

ตั้งแต่นั้นมากลุ่มบริษัทยาคูลท์ได้ขยายตลาดสู่สากล กว่า 200 บริษัทใน 17 ประเทศ ในขณะเดียวกัน บริษัทแม่ Honsha ก็มีส่วนเกี่ยวของกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนนผสมของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์หลายชนิด จนกระทั้งปี 1967 สถาบันวิจัยที่มีชื่อว่า Central Institute for Microbiological Research ก็ถูกก่อตั้งขึ้นในโตเกียว

ทางบริษัทกล่าวว่าเวลานี้ ทุกๆวัน ยาคูลท์ถูก ดื่ม จิบ ดูด ซด กรอก เท หรือ กระทำการใดๆ โดยกว่า 25 ล้านคนทั่วโลก

(ผมว่าอย่างน้อย โดยเฉลี่ยคนละ 2 ขวดต่อวัน) ถ้าข้อมูลนี้เป็นจริง ยาคูลท์ก็น่าจะมียอดจำหน่ายเกินกว่า 50 ล้านขวดแน่นอน เพราะผมเชื่อว่ายังมีเด็กอีกมากที่ซดยาคูลท์ เหมือนผู้ใหญ่ซดเหล้า โดยเฉพาะประเทศไทย นอกจากเด็กเล็กเด็กโตเด็กโข่ง ก็ยังมีผู้บริโภคที่สามเช่นนางกวัก ศาลเจ้าพ่อ เจ้าแม่ ต้นไม้ อีกด้วย

นอกจากนั้นยาคูลท์ก็ยังเป็นธุรกิจขายตรงที่ไม่ใช่ MLM ที่ยืนยงมาถึงทุกวันนี้อีกต่างหาก เพื่อนผมเล่าให้ฟังว่า สมัยเด็กๆมีสาวยาคูลท์ขี่จักรยานมาขายยาคูลท์ที่บ้านทุกวัน เวลาผ่านไปกว่า 20 ปี เธอก็ยังเป็นสาวยาคูลท์ปั่นจักรยานอยู่เช่นเคย (แต่ไม่รู้ว่าคันที่เท่าไรแล้ว)…

กับสโลแกนเท่ห์ๆ มีปัญหาถามสาวยาคูลท์ — แต่ถ้าถามว่าเมื่อไรเมื่อไรการเมืองจะหายน้ำเน่าเสียที อันนี้คงต้องไปคุยกับแลคโตบาสิลัสเอาเองนะคร๊าบ

ไปไหนมาดอทคอม • 089-4789334 • 02-045-3445 • Line : @painaima.com • painaima@gmail.com • ติดต่อเรา

ไปไหนมาดอทคอม • ติดต่อเรา

error: บทความทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของไปไหนมาดอทคอม