pnm-sidewhitetxt

ลาวเหนือ 10 วัน 10 พันโค้ง

เชียงของ – – ห้วยทราย
ล่วงเข้าเกือบ 10 โมง
ที่เราจัดการเรื่องการผ่านแดนและแลกเงินเป็นที่เรียบร้อย
นั่งรอพี่ชายคนหนึ่งที่เจอกันบนรถทัวร์บินได้ ซึ่งมีจุดหมายเดียวกัน
เผื่อจะติดรถที่แกเหมาไว้ไปด้วย แต่จน 11 โมง
ก็ยังไม่มีวี่แววแกจะข้ามฟากมาจากฝั่งไทย จึงตัดสินใจออกหารถ
มิฉนั้นหากช้าไปกว่านี้ เราอาจจะต้องค้างเติ่งเสียเวลาอีก 1 วันอยู่ที่นี่
“ห้วยทราย”
ป้ายบอกราคาเรือเร็ว
และเรือช้ามุ่งสู่หลวงพระบางมีติดให้เห็นอยู่ทั่วไปทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว
ราคาสำหรับสปีดโบท หรือเรือบรื๋อก็อยู่ประมาณ 800-1000 บาทแล้วแต่เจ้า
ส่วนเรือช้าก็ 4-500 บาท แต่พวกเราก็ได้แค่มองๆไว้
เพราะคราวนี้เรามีโปรแกรมเด็ดกว่านั้น ทางสายทางช้างผ่าน
ผมก็ไม่รู้จะเรียกถนนสายนี้ว่าอย่างไร เพราะมันกระเด้งกระดอนเสียเหลือเกิน
แค่โค้ง 2 โค้ง ซ้ายกับขวา พี่คนขับหนะไม่สนใจหรอก
ก็แกทิ้งโค้งซะแบบไม่มีเยื่อใย ก็เลยทำให้ผมและบุคคลตรงข้าม
ออกอาการก้นไม่อยู่เบาะ นี่แค่เบาะๆ ยัง ยังอีกไกล สองแถวประจำทางวิ่งระหว่าง
ห้วยทราย-หลวงน้ำทา มีแค่ถึงตอนประมาณ 10 โมงเท่านั้น ก็สมควรกับเวลาวิ่ง
8 ชม อยู่หรอก มิฉะนั้นคงถึงดึกเกินไป
ใครจะเดินทางเส้นทางนี้ก็ควรจะจองตั๋วรถทัวร์จาก กทม. แต่หัววัน
แล้วรีบข้ามฝั่งให้เร็วที่สุดเพื่อรอรถประจำทาง เพราะเส้นทาง
กรุงเทพ-เชียงของ ถ้าโชเฟอร์ไม่พารถเหาะมาอย่างพวกเรา
อาจจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 12 ชม. ส่วนรถ สองแถวประจำทางเข้าหลวงน้ำทานั้น
ก็อย่างที่บอกว่ามีแค่ถึงประมาณ 10 โมง แต่ถ้าไปพอดี 10 โมง
ก็อย่าหวังจะได้นั่งเลย และถ้าไม่ได้นั่ง
เตือนด้วยความหวังดี……นอนที่นี่อีกคืนดีกว่า สุดท้ายก็ต้องเหมารถ ซึ่งค่าเหมามาตรฐานคือ 4000 บาท แพงไปสำหรับ 5 คน ก็ต้องไปหวังน้ำบ่อหน้าที่ท่ารถ เผื่อจะมีฝรั่งงร่วมแจม
ตุ๊กๆใจดี พาเราหารถอยู่นาน
จนบังเอิญเจอเพื่อนเขาซึ่งขับรถเส้นทางนี้อยู่แล้ว ตกลงต่อรองตะล่อม ได้มา
2100 บาท(ตุ๊กๆได้ค่านายหน้าจากรถด้วย
แต่ก็ดีที่ตุ๊กคนนี้ดูมีน้ำใจและกระตือลือล้นในการหา)
เสร็จสิ้นเรียบร้อยก็ย้อยข้าวของขึ้นรถสองแถว จ่ายตังให้ตุ๊กๆไป 2 มัด
ตุ๊กๆถามให้หมดนี่เลยหรอ ก็ไม่ได้เอะใจ เลยบอกว่าใช่
สาวๆบางส่วนจับจองที่นั่งในแคป สองแถวก็เลยเหลือ 2 คน
โชเฟอร์สองแถวจัดการเติมน้ำมัน ไปรับเมียและลูกเพราะบ้านเขาอยู่หลวงน้ำทา
……เดินทางออกจากห้วยทราย บ่ายโมงกว่า “เฮ้ย ต้องจ่ายค่ารถตุ๊กๆเมื่อกี้เท่าไรวะ 20000 หรือ 200000”
“20000 ดิพี่”
“อ้าว ไม่เห็นมีใครเตือนเลย ก็ถามแล้วว่า 2 มัดเลยหรอ”
ด้วยความไม่คุ้นชินของตัวเลขมากๆ ทำให้เห สับสนเล็กน้อยถึงปานกลาง
มื้อนี้เรามาแบบเศรษฐี ติปตุ๊กๆไป 800 บาท
นับว่าเป็นตุ๊กๆที่มีรายได้ดีที่สุดในโลก ถ้าผมยังคงนั่งอยู่
อาจจะอ๊วกออกมาได้โดยไม่รู้ตัว เลยเปลี่ยนท่าเป็นนอนดีกว่า
แต่จะให้นอนสบายๆเฉยๆได้อย่างไรกัน
ข้อแลกเปลี่ยนคือต้องจับราวเหล็กให้มั่นและออกแรงรั้งตัวไว้
เพื่อดำรงชีวิตอยู่บนเบาะได้อย่างปลอดภัย ล่วงเลยบ่ายสามไปพักใหญ่ เราถึงเมืองเงิน
จุดพักรถ มีตลาดและร้านเฝอเล็กตั้งอยู่ประปราย
ลงรถด้วยอาการเองซ้ายเล็กน้อย เอียงขวาปานกลาง รีบกินรีบไปต่อ
เก็บค่าเสียหาย แล้วเดินทางต่อ ผมถามถึงระยะเวลากว่าจะถึง มาอยู่ที่นี่
ลืมเรื่อง อีกกี่ กม.ไปได้เลย
พี่พันคนขับรถบอกอีกนานพอควรเนื่องจากทางไม่ดี ขับเร็วมากไม่ได้ ผมหลงเชื่อด้วยความดีใจ!!!!

นนลูกลังแคบๆกับหลุมบ่อกว้างๆ เส้นนี้มีโครงการจะปูยาง(ลาดยาง)
จากห้วยทรายถึงหลวงน้ำทาระยะทาง 195 กม. (ส่วนจากหลวงน้ำทาไปนี่ไม่แน่ใจ)
โดยเงินทุนกองทุนอะไรสักอย่างและพี่ไทยเป็นผู้สร้าง
โดยโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2006
แต่จนตอนนี้ผมยังไม่เห็นจะมีวี่แววโครงโครงการแม้แต่น้อย ผมหวังไว้ว่าอีก
4 ปีข้างหน้า จะมีถนนลาดยางเส้นอุ่นๆให้ผมได้ย้อนรอยอีกครั้ง
ทำไมอุ่นหนะหรือครับ ก็พี่ไทยแกเพิ่งจะเผาเสร็จหมาดๆเลยไงหละ วังสาดสีท
องใส่ขุนเขาอย่างไม่เกรงใจ อากาศเริ่มเย็นลงจับใจ จับตามแขนตาขาจนชาไปหมด
รีบควานหาเสื้อหนาวอีกตัว คว้าหมวกไอ้โม่งและถุงมือ
รีบสวมรีบใส่แล้วล้มตัวลงนอนในท่าเดิม ท่าเตรียมคลอดลูก ทุ่มครึ่ง รู้สึกว่าทางเรียบขึ้น
เริ่มเห็นแสงไฟรำไรจากบ้านเรือน เห็นรถรามากขึ้น
พี่พันยังคงรักษาความเร็วอย่างสม่ำเสมอ แซงรถคันแล้วคันเล่าทั้งๆที่ตลอด 5
ชม ที่ผ่านมา แทบจะไม่เห็นรถคันอื่นเลย
แซงรถคิวที่น่าจะออกจากห้วยทรายมาตั้งแต่ 10 โมง ถนนเรียบเป็นปลิดทิ้ง
เมื่อเข้าสู่เขตเทศบาล รถจอดหน้ามณีจันทร์เกสต์เฮ้า ที่เพื่อนเคยแนะนำ
ต่อรองค่าห้อง(ใหญ่) ได้ 40000 กีบ ย้ายข้าวของจากตู้เย็นสี่ล้อ
จ่ายตังค่ารถ 525000 กีบ กล่าวคำอำลา
ถามพี่พันว่าถ้าคราวหน้าเพื่อนมาได้ราคานี้ไหม พี่พันคิดเล็กน้อยก่อน
ตอบรับว่าได้ ผมเชื่อด้วยความจริงใจ….
หลวงน้ำทา – – เมืองสิงห์
                          ถามแม่หญิงมณีจันทร์ ได้รับคำตอบว่า ถ้าไม่นับบรรดาคาราวาน ที่นี่ก็ยังมีคนไทยไม่มากนัก จะด้วยการเดินทางที่แสนลำบาก หรือ ความไม่โด่งดังในสายตาของคนไทยก็ตาม แต่ที่นี่ ฝรั่งตรึม เรียกว่าไกด์บุ๊คเขียนถึงที่ไหน ก็เจอฝรั่งได้ที่นั่น
                          12 องศากลางใจเมือง หนาวจับจิต จนต้องเอามือไปจับจักกะแร้( เพื่อนของจั๊กกะหญิ๋งรึเปล่า ชื่อคล้ายๆกัน) รีบกินข้าว อาบน้ำเกือบอุ่น แล้วมุดไปใต้ผ้าห่มพรุ่งนี้จะไปเที่ยวเมืองสิงห์กัน
                 วางแผนว่าจะไปเยือนเมืองสิงห์แต่เช้าแล้วกลับลงมาขี่จักรยานเล่นในหลวงน้ำทาบ่ายๆเย็นๆ
                          มีรถออกจากคิวรถแถวตลาดเช้าไปเมืองสิงห์ตั้งแต่ 8 โมง จนถึง 3 -4 โมงเย็น ขากลับก็เช่นกัน ค่ารถ 10000 กีบ 50 กม.ใช้เวลาประมาณ 2.30 ชม รถกระบะสองแถว จะวิ่งเร็วกว่ารถสองแถวใหญ่เล็กน้อย ถนนหนทางก็ดีบางแย่บาง ใช้ความมือไวปากไว ไปนั่งอัดกันในแคบหน้ารถ ก็สบายขึ้นเล็กน้อย
                          ห่างจากตัวเมืองเล็กน้อย โครงการก่อสร้างเขื่อนขวางแม่น้ำทาเป็นรูปเป็นร่างมากแล้ว คงไม่เกินปีสองปีนี้ ที่นี่คงมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชม เหมือนเมืองไทย
                          รถไต่ระดับความสูงของขุนเขา สุดสายตาเป็นเบื้องลึกของหุบลำน้ำทาและสุดของสายน้ำเป็นเขื่อนขวาง ถนน-ไฟฟ้า นำมาซึ่งความเจริญ แล้วความเจริญนำมาซึ่งอะไรกัน คำตอบมีให้ดูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
                          เดินเข้าไปดูหน่วยงานการท่องเที่ยวของเมืองสิงห์ มีหมู่บ้านชาวเผ่าให้ดูมากมาย ดูนาฬิกา คำนวณเวลา ตอนนี้ เกือบ 11 โมง คงไม่เพียงพอต่อการให้เราได้ไปดูหมู่บ้านงามๆ เจ้าหน้าที่บอกว่า งามๆมันก็ไกลหน่อย แต่เวลาน้อยๆหน่อยของเรา ก็คงต้องดูงามน้อยๆหน่อยละกัน เหมารถเล็กไปกลับ 40000 กีบ ดูหมู่บ้านม้งใกล้ๆ ตอนนั้นไม่มีข้อมูลมากเท่าไร มาเจอกลุ่มคนไทยบอกว่าวัดไทยลื้อสวย ก็เลยได้แต่เสียดาย
                          ขาลงเขาคาดว่าจะใช้เวลาน้อยกว่าขาขึ้น ไม่เกิน 4โมงครึ่งน่าจะได้มาปั่นจักรยานเล่นกัน แต่กลับกลายเกือบๆ 5 โมงครึ่ง คนขับแกถนอมรถมาก เรียกว่าสตาร์ตเครื่องเฉยๆแล้วปล่อยให้รถไหลไปเองหละมั้ง หรือไม่ก็ขับแบบมนุษหินฟลิ้นสโตนคือโผล่ขาออกมาข้างนอกแล้ววิ่งไป ยิ่งใกล้ๆถึงเมืองนี่ เป็นแบบฟลิ้นสโตนคลาน
                          เป็นอันว่าแผนน่องโป่งก็เป็นอันล่มไป เหมาสองแถวกะป้อไปเมืองเก่า ไปดูน้ำทา อีกเล็กน้อยให้หมดวันโดยสมบูรณ์
                          หลวงน้ำทายังมีอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ น้ำหา nbca คล้ายๆกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบ้านเรา ฝรั่งชอบไปหรือ เดินป่าและล่องแก่งซึ่งก็มีบริษัทนำเที่ยวอยู่มากมาย แต่หนทางของเรายังอีกยาว(ไม่ไกลแต่)นานนัก ใครผ่านมาแถวนี้ก็ลองแวะมาเที่ยวเล่นละกัน
หนองเขียว ภูผาสูงชัน กับวันสีทอง
แม่หญิงมณีจันทร์บอกว่าจะมีรถหลวงพระบางมารับเรา รอจน จะ8โมงแล้วก็ยังไม่เห็นวี่แวว ตัดสินใจไปขึ้นรถสาย หลวงน้ำทา-อุดมไซ ที่คิวรถตลาดเช้ามิฉนั้น อาจพลาดที่นั่ง  แม่หญิงขอโทษขอโพยเป็นการใหญ่เนื่องจากรถไม่มาตามนัด โชคเป็นของเราที่ยังไม่มีคนบนรถมากนัก
                          ถนนหนทางระหว่างหลวงน้ำทา-อุดมไซ แม้จะลาดยางบ้างแล้ว แต่คงเป็นยางสมัยก่อนประวัตศาสตร์เป็นแน่ เราก็ยังโยกเยกเช่นเคย ถึงจะไม่มากเท่าวันแรกก็ตาม
                          มีคุณลุงคนหนึ่ง แกจะลุกลี้ลุกลนมาก เปรียบประหนึ่งเป็น สส คอยตรวจตรา ผู้โดยสาร ทุกครั้งที่รถจอดแกต้องวิ่งลงไปข้างล่าง ไปซื้อนู่นซื้อนี่ ไปดูคนลงว่าสัมภาระเรียบร้อยไหม ดูไปแกก็มีน้ำใจดีนะ แต่ ลุงครับ นั่งนิ่งๆบ้างเถอะครับ ผมเวียนหัว
                          ไม่ถึงห้า ชม. ดี ก็ถึงอุดมไซ ที่นี่เป็นเมืองขนาดปานกลางค่อนข้างเจริญ เรียกว่าเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมของลาวเหนือเลยทีเดียว ใครต้องการมาเมืองนี้โดยไม่ผ่านหลวงน้ำทาก็สามารถนั่งเรือเร็วหรือช้าจากห้วยทรายมาลงที่ปากแบ่งจากนั้นมีสองแถววิ่งระหว่างปากแบ่ง-อุดมไซ ทางลาดยางครึ่งนึง ลาดฝุ่นครึ่งนึง
                          น่าเสียดายที่เวลาของเราไม่เพียงพอให้ดื่มด่ำเมืองอุดมไซ เพราะหนทางยังยาวไกล รีบหารถไปหนองเขียว พอดีมีรถคิวจอดรอผู้โดยสารอยู่ สอบถามได้ความว่า จากอุดมไซมีรถไปน้องเคี้ยววันละ 3 รอบ เช้า ราวๆ 9-10โมง บ่ายราวๆบ่ายโมง-สองโมง และเย็นสี่-ห้าโมง ค่ารถคนละ18000 กีบ ทางราบเรียบตลอด โค้งพอๆกับหลวงน้ำทาหละ ซ้ายกับขวาแค่นั้น
                          รถไต่ขึ้นเขาชันอย่างชำนาญ โค้งซ้ายก็คล้ายแม่ฮ่องสอน โค้งขวาก็คล้ายๆแม่สอด พี่คนขับเล่าให้ฟังว่าเมืองปีก่อนมีรถคนไทยที่มากับคาราวานตกเหวไปคันนึงพร้อมชี้จุดตก ผมชะโงกหน้าไปออกไปดู ไม่เห็นอะไรนอกจากเหวลึก หวาดเสียวอย่างยิ่งเพราะถนนเส้นนี้ไม่มีเครื่องหรือรั้วกั้นอะไรทั้งสิ้น วิวสองข้างทางเป็นเขาทุ้งหญ้าหัวโล้นเป็นส่วนใหญ่ ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นธรรมชาติ  ผลพวงจากสงคราวหรือน้ำมือมนุษย์กันแน่
                          หลับๆตื่นๆไปหลายยก รถค่อยๆชะลอตัว ผู้โดยสารลงเกือบหมดคัน  ที่นี่คือปากมอง เลี้ยวขวาไปอีกราว 3ชม จะถึงหลวงพระบาง แต่ถ้าอยากไปซำเหนือก็ต้องตรงไป พี่ชายที่นั่งข้างๆกันมา แกจะกลับบ้านที่อยู่ซำเหนือ แกบอกว่า แกจะรอรถสายเวียงจันทร์-ซำเหนือที่จะมาถึงปากมงประมาณ 10 โมงแลง หรือ 4 ทุ่ม ถึงนู่นก็ประมาณ 2-3 โมงแลง(บ่าย2-บ่าย3) ใครอยากไปซำเหนือรอรถตรงนี้ได้ครับ แต่จะได้นั่งหรือเปล่า ไม่รับประกัน
                          แดดบ่ายสาดภูเขาหน้าตาประหลาดๆ น้องเคี้ยวห่างจากปากมงไปทางซำเหนือประมาณ 1 ชม
                          พี่คนขับชี้ให้ดูภูผาที่ยืนโด่เด่อยู่ท่ามกลางท้องทุ่ง
                          “ก็อยู่แถวๆเขานั่นหละ” นึกถึงหนังฝรั่งที่คาวบอยกำลังตามล่าหาขุมทรัพย์อะไรซักอย่างกลางท้องทะเลทราย
                          ตอนนี้รถทั้งคันเหลือเพียงพวกเรา 5 คน แค่นั้น
                 แดดบ่ายส่องแสงลอดราวสะพานเป็นเงาทอดพาดเด็กน้อยที่กำลังยืนแอ็คเป็นแบบให้ผมถ่ายรูป 
                          แดดบ่ายส่องวิถีริมลำน้ำ
                          แดดบ่ายส่องผ่านหมอกที่ลอยอ้อยเลียบน้ำอู เรือลำน้อยเคลื่อนออกจากท่า
                          แดดบ่ายส่องผาเป็นสีทอง
                          แช้ะๆๆ กดไม่ยั้ง 
                          กดจนแดดหมด อาทิตย์หลบเหลี่ยมเขา แล้วอ้าว พรรคพวกหายไปไหนกันหมด
                          ซันเซตเกสเฮ้าตั้งอยู่ริมน้ำอู เงียบสงบ ห้องพักดี เหมาะสำหรับผู้โหยหาในความสงบ เพราะแม้แต่แสงไฟยังต้องอาศัยตะเกียง
                          อากาศเย็นลงเรื่อยๆ ตัดสินใจอาบน้ำก่อนจะค่ำไปกว่านี้ ราดน้ำขันแรก ผมก็กลายเป็นนักวิ่งลมกรดในทันที คงรู้นะว่าหมายถึงอะไร
                          วันนี้แขกเต็มร้าน ส่วนมาก ไม่ใช่สิ ทั้งหมดเป็นฝรั่ง ถามเจ้าของบ้านบอก ปีนี้นับคนไทยได้ไม่ถึง 20 เลย ไม่แปลกหรอกพี่ กว่าผมจะมาถึงนี่ก็ 2-3วันแล้ว ไม่งั้นคงต้องสร้างสนามบินไว้รอรับท่านๆแล้วละมั้ง
                          เข้านอนแต่หัววัน เราจะพักก้นกันที่นี่ 2 คืน
ทวนน้ำอู ดูเมืองง้อย
                          เมฆหมอกหน้าทึบบดบังแสงอาทิตย์จนหมดสิ้น ทุกๆเช้าจนสายที่นี่จะจมอยู่ใต้ทะเลหมอก นึกๆไปก็เหมือนเมืองบาดาล  แดดไม่ยอมแยงก้นเช้านี้เลยอดดูตลาดเลย
                          แต่สาย ติดต่อเรือไปเที่ยวเมืองง้อยที่อยู่เหนือขึ้นไปจากน้องเคี้ยว ซึ่งสามารถไปถึงได้โดยทางเรืออย่างเดียว ค่าเรือประจำทางเที่ยวละ 9000 กีบใช้เวลา 1 ชม. รวมขาขึ้นและลงก็คนละ 18000 กีบ ไม่ว่าจะเป็นเรือหรือรถก็รอคนเต็มเจึงออกหมือนกัน
                          เรือค่อยทวนน้ำอูที่ไหลเอื่อย มีแก่งบ้างพอให้ได้เสียว เมื่อนั้นจึงรู้ว่าสายน้ำแห่งนี้ไม่ได้เฉื่อยอย่างที่คิด
                          น้ำอูสายนี้ไหลลงมาจากพงสาลี แต่ต้นทางจริงๆอยู่ที่ใดไม่เคยมีใครไปถึง รู้เพียงว่าเขาคงเดินทางมาแสนไกล ผ่านดินแดนอันหนาวเหน็บอย่างพงสาลี เพียงเพื่อจุดหมายจะกลายเป็นความยิ่งใหญ่ เมื่อรวมกับน้ำโขง
                          จากน้องเคี้ยว เราสามารถทวนน้ำอูขึ้นไปถึงเมืองขัวหรือหาดสา เพื่อต่อรถไปพงสาลีได้ โดยระยะเวลาเดินทางราวๆ 9-10 ชม. ค่าใช้จ่ายนั้นน่าจะเฉียดๆล้าน หรือจะล่องน้ำอูสู่หลวงพระบางก็ได้ เท่าที่สอบถามโดยมากจะเหมามากกว่า ราคาเหมาอยู่ระหว่าง 7-900000 กีบ ระยะเวลาก็ 6 ชม.
                          เมืองง้อย(เหนือ) เป็นหมู่บ้านเล็กๆที่ไม่เล็ก มีที่พักอยู่พอสมควร แม้แต่เมืองเล็กๆห่างไกลจุดยุทธศาสตร์แห่งนี้ก็ยังไม่วายโดนระเบิดสมัยสงคราม แต่ละลูกใหญ่ท่วมหัว สุดท้ายก็กลายเป็นรั้ว เป็นเสาบ้าน  เป็นรั้วที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตคนนับพันนับหมื่น
                          จุดสนใจของที่นี่ที่สามารถเที่ยวได้ภายในหนึ่งวันคือถ้ำกลางและถ้ำแก้ว  ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 30 นาที ระหว่างทางมีป้ายนำเที่ยวไปที่ต่างๆเช่นหมู่บ้านม้ง น้ำตกใหญ่ หรอล่องเรือไปดูชีวิตชาวบ้าน แต่โปรแกรมพวกนั้น เหมาะสำหรับคนที่มีเวลามากๆเช่นฝรั่งเป็นต้น เพราะต้องค้างคืนที่นี่
                          เมื่อโลกหมุนมาจ๊ะเอ๋ พระอาทิตย์ยามเย็นอีกวาระ ความสวยงามก็เกิดขึ้นอีกครา เด็กน้อยบ้าพลังกลุ่มใหญ่ มิเอียงอายกล้องตัวเขื่อง บอกให้ทำอะไรก็ทำ
                          แปลงร่าง โดดน้ำ ตีลังกา
                          ผมมองดูเด็กเหล่านั้นอย่างสุดขำ ขำในความบ้าและความกล้า
                          ค่ำคืนส่งท้ายปี ท่ามกลางตะเกียงและเทียนหลายเล่ม นึกแปลกใจที่ฝั่งนู้น มีไฟฟ้า มีแสงคาราโอเกะแว่วข้ามน้ำกว้าง ฝรั่งพูดไทยได้มานั่งสนทนาปัญหาขบขันกับเรา ทึ่งในความสามารถของเขา อยู่เมืองไทยสองปี สามารถพูดไทยให้คนไทยขำได้ คิดดูละกัน
                          ถามเจ้าของร้าน บอก อีกไม่นานฝั่งนี้ก็มีไฟฟ้าใช้
                          ผมนึกถึงวันนั้นที่มาถึง เมื่อไฟฟ้าไหลบ่ามา นำพาความเจริญสู่หมู่บ้านพร้อมการท่องเที่ยวที่สวยหรู นึกถึงแสงเทียนสีเหลืองนวล โยกแยกไปตามสายลม นึกถึงเด็กน้อยที่ใสซื่อ เมื่อผมกลับมาคราวหน้าที่แห่งนี้ยังจะเป็นดินแดนในฝันของผมอีกไหม
หลวงพระบาง
                          บางคนบางตีนใช้เวลาเพียงย่ำรุ่ง เพียงเพื่อมุ่งสู่หลวงพระบาง แต่สำหรับเรา อีก3 ชม ข้างหน้า ก็จะครบ 96 ชม. ในลาว เพราะเราเชื่อว่า ลาว ไม่ได้มีแค่หลวงพระบางเท่านั้น
                          หลวงพระบางวันนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าต่างจากวันก่อนไปเท่าใด ก็เพราะผมก็พึ่งเคยมาเป็นครั้งแรกเหมือนกัน จึงมิอาจหยิบเอาความทรงจำเก่าๆมาเปรียบเทียบได้ ก็เลยต้องบันทึกข้อมูลใหม่ๆลงไปในต่อมความทรงจำ เผื่อว่ามาคราวหน้าครั้งใดจะได้เปรียบเทียบได้ถูกต้อง
                          ฟังคำบอกกล่าวของผู้เคยเดินทางมาก่อน ว่าที่นี่เปลี่ยนไปมาก หลวงพระบางที่มีหลุมรักมากมายให้คนเดินทางได้ตก บัดนี้ดูเหมือนหลุมเหล่านั้นกลบตัวเองลงอย่างเงียบงัน ด้วยอะไรสักอย่างที่ผมก็มิอาจบรรยายได้
                          เอาไว้วันหลัง เรามาคุยกันเรื่องหลวงพระบางแบบเจาะลึกกันท่าจะดี
ทุ่งไหหิน
                          ถ้าจะเอ่ยถึงทุ่งไหหิน ก็ต้องเซียงขวาง และเมืองหลวงของเซียงขวางก็คือโพนสะหวันนั่นเอง
                          7 โมงเช้า เก็บข้าวเก็บของ ซื้อตั๋วเสร็จ รีบขึ้นจอง เดี๋ยวก้นมัวหมองเพราะไม่มีที่
                          รถจากหลวงพระบางไปเมืองโพนสะหวันแขวงเซียงขวางวันละรอบตอน 8 โมง – 8โมงครึ่ง ค่าปี้ 55000 กีบ โยกย้ายส่ายสะโพกได้ตั้ง 7 ชม คุ้มดีทีเดียว
                          สภาพรถฮีโน่หน้าแดง เอียงซ้ายเหมือนคนเมาเหล้า แต่นี่คงเมาน้ำมัน ซดไปเยอะละสิ แล้วพี่จะพาผมไปถึงไหมนี่  รถออกไปได้ไม่ไกลเท่าไร ยางแตกเอาฤกษ์เอาชัยซะ 1 เส้น
                          บ่ายโมงกว่า ถึงแยกภูคูน ถ้าตรงไปอีกพันกว่าโค้งจะ ถึงเวียงจันทร์ ถ้าเลี้ยวซ้าย อีกราว กว่าพันโค้งก็ถึงเซียงขวางเหมือนกัน รถจอดให้ลงไปเป็นเจ้าของกิจการส่วนตัว ณ.ที่ตรงนี้นับเป็นห้องน้ำที่วิวดีที่สุดในโลก อากาศเย็นสดชื่น ใครใครฉี่ ก็ฉี่ ใครใคร่อ๊วก อ๊วก ก็ไปเลย
                          ถ้าโค้งที่แม่ฮ่องสอนเป็นหมัดตรงกะน็อค คู่ชกแบบโป้งเดียวจอด โค้งที่นี่ก็คงเป็นหมัดแย๊บ ยิงไปเรื่อยๆ ไม่แรงแต่ถี่เหลือเกิน อาศัยสะสมความช้ำ ไปเรื่อยๆแย็บสักสิบหมัดก็ขวาตรงซักหมัด สุดท้ายก็น็อคเหมือนกัน..ไม่เป็นไร เรามีถุงยาง(ถุงก๊อปแก็ป)ไว้คอยให้บริการ
                          โอ๊วก..โอ่…อววกก ทำเสียงไปด้วยนะครับ จะได้อรรถรสมากเลย ออกเปรี้ยวนิดๆนะครับ
                          ล่วงบ่ายสาม รถชลอตัวจอดต่อคิวรถโดยสารคันอื่นๆ เกิดอะไรขึ้น ข้างหน้ามีดินถล่มขวางทาง มีรถแบคโฮสองคัน ช่วยกันตักดินอย่าง ขมูขมี (ขมูขมีเป็นคู่อริของขมีขมัน) เกือบชม. จึงผ่านไปได้
                          เพียงแวบแรกหลังลงรถ ก็รู้สึกสะท้านกายด้วยไอหนาว 12 องศา ตอนห้าโมงเย็น เหมือนเดินฝ่าไอหนาวในตู้เย็น
                          โพนสะหวันเป็นเมืองหลวงเมืองใหญ่ของแขวงเซียงขวาง ในอดีตแถวๆนี้เป็นพื้นที่สำหรับสงคราม เพราะมีชายแดนติดกับเวียดนาม โยกซ้ายขวาผ่านทะเลภูเขาจนเข้าเขตเมืองแลเห็นภูเขาหัวโล้นรอบๆเมืองมีต้นแปก(ต้นสน)ขึ้นประปรายดูแปลกตา ไม่รู้ว่าเพราะธรรมชาติรังสรรค์หรือเปลี่ยนผันด้วยมือสงครามกัน เมืองมานบ้านเรือนที่นี่เป็นอิฐเป็นปูนแบบบ้านสมัยใหม่หมดแล้ว ก็คงเพราะฤทธิ์สงครามอีกนั่นแล
                          ทุกสิ่งทุกอย่างที่นี่พูดกันเป็นเงินดอลล่า ไม่ว่าจะค่าห้องพักหรือค่าทัวร์ แต่ไม่มีเงินดอล แต่โชคยังดีที่อัตราแลกเปลี่ยนตอนนี้ 1 ดอล มีค่าประมาณ 10000 กีบ (ต้นปี 2546)
                          ตะวันลาลับฟ้าไปใต้หมอกหนาวนานแล้ว มีชายผู้หนึ่งทักทายเป็นภาษาปะกิดจึงหยุดยืนคุย ทราบทีหลังว่าพี่ชายคนนั้นเป็นอาจารย์และไกด์ที่มีความรู้และอัธยาศัยดีมากๆ แกอธิบายเรื่องราวเห็นภาพเป็นฉากๆ
                          รู้ในภายหลังว่าทุ่งไหหินที่เราจะไปเยือนนั้น อนุญาติเฉพาะผู้ที่มีใบอนุญาตินำเที่ยวเท่านั้น เรื่องจะไปเหมาตุ๊กๆ จัมโบ้ หรือ อื่นๆหมดสิทธิ์ จึงให้อาจารย์บุรินทร์ช่วยหารถไปทุ่งไหหินให้ ตกลงราคากันหัวละ 4 ดอลล่า ก็ประมาณ 180 บาท น่าเสียดายที่เกสเฮาท์ที่อาจารย์อยู่ห้องเต็มซะแล้ว ไม่งั้นจะย้ายมานอนที่นี่
                          เซียงขวางยังมีที่ท่องเที่ยวอื่นนอกจากทุ่งไหหินอันโด่งดัง แต่ด้วย งบประมาณที่เพิ่มขึ้น และ เวลาอันจำกัด เราจึงเลือกที่จะชมเพียงทุ่งไหหินทั้ง 3 เท่านั้น
                          กลับถึงบ้านพักมีบางคนบางคัน มาเสนอขายทัวร์ทุ่งไหหินทั้ง 3 ไซต์ในราคา เหมา 1500 บาท ก็เลยบอกปฏิเสธไปเพราะได้ติดต่อไว้แล้ว ( 180*5=900 กว่าบาทเอง นับว่าเป็นโชคที่เจออาจารย์)
                          ได้ยินจากแม่ค้าแม่ขายว่าที่นี่ ยังมีคนบางกลุ่มวางตัวมีอิทธิพลใหญ่โต คอยหลอกนักท่องเที่ยว เคยโดนตำรวจจับแต่ก็ยังเอากล้ามออกมาวางได้อีก สำหรับคนเดินทางคงต้องระวังตัวให้มากหน่อย อย่าหลงเชื่อใครง่ายนัก แต่ก็อย่าแสดงออกด้วยการปฏิเสธเพียงอย่างเดียว ของอย่างงี้ต้องชิงไหวชิงพริบกันบ้าง อย่างคิดเพียงแต่เอาถูกเข้าว่าเท่านั้น หรือไม่ก็ลองถามหลายๆคนหลายร้านก็คงพอจะช่วยได้บ้าง แต่อย่าเผลอไปถามเจ้าตัวเข้าหละ
                          ทุ่งไหหินแท้แล้วมีทั้งหมด 19 ไซต์ แต่ที่เด่นๆและเป็นจุดท่องเที่ยวมีอยู่สาม ทุ่งแรกมีจำนวนไหมากที่สุด ประมาณ 250-300 ใบ มีทั้งใบเล็กและใบใหญ่ขนาดหลายตัน ห่างออกไป 20 กม เป็นทุ่ง ที่ 2 และ 3 ตามลำดับ
                         ตำนานทุ่งไหหินมีมากมายแล้วแต่ใครจะเป็นผู้เล่า แต่ที่ได้ฟังมา เรื่องก็มีอยู่ว่า ขุนเจียงนำทัพที่รบชนะข้าศึก มาพักแรมบริเวณนี้ มีการฉลองกัน โดยให้ชาวบ้านทั้ง 19 หมู่บ้านต้มเหล้าแข่งกัน ผ่านเวลาไป 3000 ปี เหล้าเหือดหาย เหลือไว้เพียงฝากับไหให้ดูต่างหน้า
                         สงสัยจริงๆว่าต้มเหล้าทำไมต้องสร้างไหมากมาย กว่าจะสร้างไหเสร็จ ตะหารหาญมิหิวเหล้าตายกันหมดหรือไงนะ
                          ตระเวณดูไห ใบแล้วใบเล่า ดูจนเมาไห เลยกลับบ้านดีกว่า ถึงตอนนี้ต่างคนก็ต่างขุดเงินไทยในกระเป๋า มาแลกเป็นเงินกีบ 2000 บาทเป็น 500000 กีบ หากเป็นวันแรกๆคงจะดูเยอะ แต่ผ่านมา 6-7 วัน ทำไมได้แค่ 500000 เองวะ นั่นก็แสดงว่าเราเริ่มกลายเป็นคนลาวกันแล้ว เคยชินกับการจ่ายเงินกีบอันมากมาย เมื่อนี้จึงรู้สำนึกว่า เศรษฐีหนะ มันไม่ได้อยู่ที่ว่าใครมีตัวเลขบนกระดาษเยอะกว่ากัน
                          ยังครับยังไม่ถึงบ้าน หนทางยังอีกหลายพันโค้งนัก
                          เช้านี่ที่ท่ารถโพนสะหวัน คนเยอะแยะมากมายแย่งกันเข้าคิวให้ตัวเองอยู่หน้าสุด ทั้งนักท่องเที่ยวทั้งคนพื้นที่ ดังนั้น ขากลับจากโพนสะหวัน รีบตื่นเช้าๆมาซื้อตํ๋วก่อนเลยนะครับ ถ้าไม่มีที่นั่ง รอไปวันรุ่งขึ้นดีกว่า
                          ตัดสินใจขึ้นรถสายโพนสะหวัน-วังเวียง ด้วยคิดสะระตะแล้วว่าวังเวียงน่าจะถูกและน่านอนกว่าเวียงจันทร์
                          รถบัสคันใหญ่นั่งได้แถวละ 5 คน นึกถึง รถขน ร.ด. ไปเขาชนไก่ แล้ว เอาเก้าอี้ร้านก๋วยเตี๋ยวมาว่าตรงกลางอีกตัว ใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าดีจริงๆ ขาไปโยกยังไง ขากลับก็โยกยังงั้น ต่างกันที่โยกสวนทางกับขามาเท่านั้นเอง
                          คุณยายเบาะหลังออกอาการ โอ้ก อ้าก ตั้งแต่โค้งต้นๆ จนโค้งท้ายๆ ยกนิ้วแม่โป้งให้ทั้ง 4 อัน เลย เกือบ 7 ชม ยายเอาอะไรมาอ้วกบ้างครับ เผลออ้วกเอาใส้ออกไปด้วยหรือเปล่า
                          ถึงวังเวียงตอนสนทยาย่ำ พื้นเจิ่งนองด้วยน้ำ ฟ้าเจิ่งนองด้วยเมฆ เวลาไม่เพียงพอให้เราทำอะไรได้มากนัก เดินเล่นในตลาด แลกความหิวด้วยกล้วยปิ้งกับเงินกีบที่พอเหลือสำหรับจับจ่ายสรรพสิ่งนอกรอบ
                          ที่นี่มีไฟให้ใช้ตลอด 24 ชม. คิดถึงเมืองที่ผ่านๆมา เมื่อความเจริญร่อนถลาลงมา แล้วเมืองแบบนั้นๆจะกลายเป็นแบบนี้หรือเปล่า
                          “พรุ่งนี้เข้าเวียงจันทร์เร็วหน่อยดีกว่านะพี่ จะได้พอมีเวลาไปเที่ยวในเมืองหน่อยนึง ก่อนด่านปิด”
                          และนั่น ก็คงเป็นแผนการเดินทางฉบับสุดท้าย ที่อภิปรายกันแบบวันต่อวัน แผนที่เมืองลาวเหนือโหลดมาจากอินเตอร์เนตมาประติดประต่อ เป็นรอยแดงเถือกตั้งแต่ 8-9 วันก่อน เราคงไม่ต้องใช้มันอีกแล้ว
                          เสียงฝนกระซิบพื้นดังจ้อกแจ้ก เหมือนเป็นการบอกลา
                          สายๆ รถกระบะสามแถว ออกจากท่ารถวังเวียง อีกไม่นานนักเราจะกลับบ้าน กลับไปสู่ความเจริญที่ไม่เคยจีรัง

ไปไหนมาดอทคอม • 089-4789334 • Line : @painaima • painaima@gmail.com • ติดต่อเรา

ไปไหนมาดอทคอม • ติดต่อเรา

error: บทความทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของไปไหนมาดอทคอม